หลักการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ถาวร

สินทรัพย์ถาวรของกิจการ จะนำมาบันทึกบัญชีสินทรัพย์นั้นๆ ในราคาทุนที่จ่ายไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้นๆ โดยหมายรวมถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดหา และตระเตรียมสินทรัพย์ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ด้วย ดังนั้น ค่าระวาง ค่าภาษีขาเข้า ค่าเบี้ยประกันภัย ตลอดจนค่าติดตั้งและค่าทดลองเครื่อง จนกระทั้งสินทรัพย์นั้น พร้อมที่จะใช้งานได้ จะต้องเพิ่มเข้าไปเป็นราคาทุนของสินทรัพย์นั้นๆ ด้วย

การแสดงรายการสินทรัพย์ในงบดุล แสดงในราคาทุน หักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม

ค่าเสื่อมราคาสะสม (Accumulated Depreciation) หมายถึง จำนวนค่าเสื่อมราคาที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายแล้วในปีก่อนๆ จัดเป็นบัญชีประเภทปรับมูลค่าสินทรัพย์ถาวร

ราคาตามบัญชี (Book Value) คือราคาทุนหักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม

สินทรัพย์ถาวรของกิจการ อาจได้มาจากวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. สินทรัพย์ที่ซื้อมาด้วยเงินสด หรือ เงินเชื่อ

2. สินทรัพย์ที่ซื้อมาตามสัญญาผ่อนชำระ การซื้อสินทรัพย์เงินผ่อน แม้ว่ากรรมสิทธิ์ตามกฎหมายยังไม่โอนมาเป็นของผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ผู้ซื้อจะบันทึกบัญชีสินทรัพย์ด้วยมูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ ณ วันทำสัญญาตกลงซื้อขายกัน และตั้งผู้ขายเป็นเจ้าหนี้ด้วยจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ผลต่างจะบันทึกบัญชีดอกเบี้ยจ่ายล่วงหน้า และจะปรับปรุงโอนเข้าบัญชีดอกเบี้ยจ่ายตามงวดบัญชีที่เกิดขึ้น

3. สินทรัพย์ที่ซื้อโดยวิธีออกใบหุ้น ในกรณีที่บริษัทฯ ชำระราคาสินทรัพย์ด้วยใบหุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัทฯเอง ราคาทุนของสินทรัพย์จะบันทึกบัญชีได้ในราคาดังต่อไปนี้

  • 1. บันทึกตามราคาตลาดของใบหุ้นทุนหรือหุ้นกู้นั้น
  • 2. บันทึกตามราคาตลาดของสินทรัพย์ ใช้ในกรณีที่ไม่ทราบราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ออกให้
  • 3. บันทึกตามราคาประเมินของสินทรัพย์ ใช้ในกรณีไม่ทราบทั้งราคาตลาดของหลักทรัพย์และราคาตลาดของสินทรัพย์

4. สินทรัพย์ได้มาโดยการแลกเปลี่ยน เมื่อกิจการนำสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ใหม่ บางครั้งอาจจะต้องจ่ายเงินสด หรือโอนสินทรัพย์อื่นให้เพิ่มเติมในการแลกเปลี่ยน เมื่อทำการแลกเปลี่ยนจะโอนสินทรัพย์เดิมออกด้วยราคาตราบัญชี พร้อมกับบันทึกการจ่ายเงินสดตามที่ตกลงกัน ส่วนราคาสินทรัพย์ใหม่ที่ได้รับมา จะบันทึกราคาใด ขึ้นอยู่กับนโยบายการบัญชีของกิจการ ดังนี้

  • 1. บันทึกสินทรัพย์ใหม่ในราคาตามบัญชี (Book Value) ของสินทรัพย์เดิม บวกเงินที่จ่ายเพิ่ม ตามวิธีนี้จะไม่มีผลต่างกำไรขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์
  • 2. บันทึกตามราคารับแลกเปลี่ยน (Trade-in) ของสินทรัพย์เดิม บวกเงินสดที่จ่ายเพิ่ม
  • 3. บันทึกตามราคาตลาดปัจจุบันของสินทรัพย์ที่ทราบราคาแน่นอน เช่น
  • 3.1 บันทึกสินทรัพย์ใหม่ตามราคาตลาด
  • 3.2 บันทึกสินทรัพย์ใหม่ตามราคาตลาดของสินทรัพย์เดิม บวกเงินสดที่จ่ายเพิ่ม

 

5. สินทรัพย์ที่ได้มาจากการบริจาคหรือค้นพบ หลักการบัญชี ให้ตีราคาสินทรัพยที่ได้มาจากการรับบริจาค หรือค้นพบในราคาตลาด แล้วนำมาเดบิตบัญชีสสินทรัพย์นั้น และเครดิตบัญชีทุนจากการบริจาค หรือบัญชีทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ที่ค้นพบกรณีที่ค้นพบสินทรัพย์ตามธรรมชาติ

6. สินทรัพย์ที่สร้างขึ้นเอง การคำนวณราคาทุนของสินทรัพย์ จะประกอบไปด้วย ต้นทุนการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง ค่าโสหุ้ยการผลิต ตัวอย่างเช่น อาคารที่สร้างขึ้นเอง ราคาทุนประกอบด้วยรายการต่างๆ ดังนี้

  • a. ราคาทุนของวัตถุดิบทางตรงที่ใช้ในการก่อสร้าง
  • b. ค่าแรงงานทางตรงที่ใช้ในการก่อสร้าง
  • c. ค่าใช้จ่ายการก่อสร้างอื่นๆ เช่น ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ เครื่องใช้ในการก่อสร้าง ค่าแบบแปลน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก่อสร้าง ค่าควบคุมงาน ค่าวางระบบ ฯลฯ
  • d. ค่าเบี้ยประกันภัยต่างๆ ในระหว่างการก่อสร้าง เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันอัคคีภัย
  • e. ดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาใช้ในการก่อสร้าง

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 15 ของสมาคมนักบัญชีฯ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า การตั้งต้นทุนการกู้ยืม (ดอกเบี้ยเงินกู้) เป็นราคาทุนของสินทรัพย์ ต้นทุนดังกล่าว จะต้องมีจำนวนเงินที่มีนัยสำคัญ และเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาช่วงหนึ่งก่อนที่สินทรัพย์นั้น พร้อมที่จะนำมาใช้งานตามวัตถุประสงค์หรือพร้อมที่จะขาย

ดอกเบี้ยเงินกู้ จะถือเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ ก็ต่อเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้

1. ดอกเบี้ยเงินกู้ เกิดขึ้นจริง

2. ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเตรียมการ เพื่อให้สินทรัพย์นั้น พร้อมที่จะใช้งานตามวัตถุประสงค์

3. ดอกเบี้ยเงินกู้ ถือว่าสิ้นสุดเวลาการตั้งเป็นราคาทุนของสินทรัพย์ เมื่อสินทรัพย์สร้างเสร็จพร้อมที่จะใช้งานได้

f. ค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคาร เช่น ทาสี ค่าอุปกรณ์ และค่าติดตั้งอุปกรณ์ประจำอาคาร ที่จะแยกหรือเคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น ตู้นิรภัยที่ฝังอยู่ภายในตัวอาคาร เป็นต้น

ส่วนอุปกรณ์สำนักงานที่สามารถแยกหรือเคลื่อนย้ายได้ และมีอายุการใช้งานต่างจากอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรักอากาศ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ฯลฯ ให้แยกบัญชีต่างหากเป็นบัญชีอุปกรณ์สำนักงาน